งานด้านการเผยแผ่

Last Updated on Monday, 28 February 2011 13:48 Written by Administrator Tuesday, 01 February 2011 15:02

พ.ศ.๒๔๙๒-๒๕๐๒ เป็นองค์แสดงปาฐกถาธรรมประจำวันพระและวันอาทิตย์ ณ พุทธนิคม วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

พ.ศ.๒๕๐๓ เป็นองค์แสดงธรรมทางสถานีวิทยุกระจายเสียง และสถานีวิทยุโทรทัศน์
- เป็นผู้ริเริ่มการทำบุญ ฟังธรรมในวันอาทิตย์ ณ วัดชลประทานรังสฤษฎ์
- เป็นผู้ก่อตั้งทุนพิมพ์หนังสือเพื่อเผยแผ่ธรรมะแก่ประชาชน

พ.ศ.๒๕๑๘ เป็นผู้อบรมผู้ช่วยผู้พิพากษา รุ่นที่ ๑๖/๒๕๑๘, รุ่นที่ ๑๗/๒๕๑๙ จากกระทรวงยุติธรรม

พ.ศ.๒๕๒๑ เริ่มแสดงปาฐกถาธรรมทุกวันอาทิตย์ต้นเดือน เวลา ๘.๐๐-๘.๓๐ น. ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ซึ่งถ่ายทอดเสียงทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๒๑ เป็นต้นมา

พ.ศ.๒๕๒๔ ริเริ่มบวชพระนวกะประจำเดือนในวัดชลประทานรังสฤษฎ์
- ริเริ่มโครงการพระธรรมทายาท อบรมพระภิกษุให้เป็นนักเผยแผ่ธรรมะที่ดี

พ.ศ.๒๕๒๕ ริเริ่มโครงการส่งหนังสือธรรมะเป็น ส.ค.ส. ปีใหม่

พ.ศ.๒๕๒๙ ไปร่วมประชุมพุทธศาสนิกสัมพันธ์อาเซียนเพื่อสันติภาพ ครั้งที่ ๗ ณ ประเทศประชาธิปไตยประชาชนลาว

พ.ศ.๒๕๓๔ เป็นผู้ริเริ่มจัดค่ายคุณธรรมแก่เยาวชนตามโรงเรียนต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ลำพูน และเชียงราย ฯลฯ

พ.ศ.๒๕๔๙ แสดงปาฐกถาธรรมในงานประชุมผู้นำชาวพุทธนานาชาติ ครั้งที่ ๓ เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๙ ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ ถ.ราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ

ท่านถือเป็นหนึ่งในผู้มอบกายถวายชีวิตให้กับพระพุทธศาสนาอย่างมิรู้จักเหน็ด เหนื่อย มุ่งหน้าทำงานสั่งสอนประชาชน ทั้งนี้ ท่านได้ประกาศนโยบายประกาศธรรม ไว้ ๒ ข้อ ความว่า

“ข้าพเจ้าขอแจ้งให้ท่านทราบว่า ข้าพเจ้ารักและบูชาพุทธธรรมมาก เพราะซาบซึ้งในรสสัจธรรมเป็นอย่างดีว่า พระธรรมให้ผลแก่ชีวิตของข้าพเจ้าอย่างไร จึงขอพูดถึงนโยบายในการประกาศธรรมว่า ข้าพเจ้ามีความมุ่งหมายในการทำงานเพื่ออะไร ท่านจักไม่ต้องสงสัยกันต่อไปอีกว่า ข้าพเจ้าเป็นพระประเภทใด ข้าพเจ้ามีนโยบายแน่วแน่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง แม้เหตุการณ์ของประเทศชาติจะผันผวนไปอย่างใด ใครจะมาครองเมืองก็ตามที ข้าพเจ้าจะทำตามนโยบายของข้าพเจ้าเสมอ ไม่มีอะไรจะมาเปลี่ยนใจของข้าพเจ้า จากความเชื่อและการกระทำ ข้าพเจ้ายอมตายเสียดีกว่าที่จะพูดหรือกระทำอันผิดๆ ความประสงค์ของพระพุทธองค์ ผู้ซึ่งข้าพเจ้าได้มอบกายถวายชีวิตเป็นธรรมพลีแล้ว

ความมุ่งหมายของข้าพเจ้า จึงอยู่ในกฎเกณฑ์ ๒ ประการ คือ
(๑) เพื่อประกาศความจริงที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศไว้
(๒) เพื่อทำลายความเห็นผิด และการกระทำผิดๆ ในหมู่พี่น้องชาวพุทธทั้งหลายให้หมดไป ตามพุทธธรรมที่พระบรมศาสดาแสดงไว้”

จริงอยู่พระธรรมที่พระพุทธองค์ทรงประกาศแล้ว แม้จะสรุปให้กะทัดรัดสั้นสุด ว่ามี ๒ ประการ คือ (๑) ความทุกข์ และ (๒) การดับทุกข์ เท่านั้น แต่เอาเข้าจริงแล้วมิใช่เรื่องเล็กเลย เพราะการจะชี้ให้คนทั่วไปเห็นว่านี่คือความทุกข์ไม่ใช่ของง่าย แม้ว่าเขาคนนั้นกำลังอยู่ในวังวนของความทุกข์ เขายังไม่รู้ว่าตนกำลังทุกข์ เขายังคิดว่าเป็นสุขเสียอีก ไม่ต่างกับหนอนอ้วน ดำผุดดำว่ายอยู่ในหลุมอาจม เทวดามาชวนไปอยู่สวรรค์ ก็ไม่ยอมไป เพราะรู้ว่าบนสวรรค์นั้นต้องเนรมิตเอาอาหารหรือสิ่งที่ต้องการจึงจะได้ เหนื่อยเปล่าๆ สู้อยู่ที่หลุมคูนี่ดีกว่า ไม่ต้องเสียกำลังเนรมิต ถึงเวลาพระคุณเจ้าก็จะมาเนรมิตให้เอง

ยิ่งภารกิจทำลายความโง่งมงายของคนยิ่งต้องออกแรงมาก หลวงพ่อต้องต่อสู้กับความโง่งมงาย หรือความยึดติดของผู้คน เช่นปาฐกถาธรรมตอนหนึ่งความว่า “เทวดา (พระภูมิ) เป็นเทวดาชั้นต่ำ แค่บ้านอยู่ยังไม่มีปัญญาสร้าง ต้องให้คนเมตตาสร้างให้ สร้างบ้านให้เขาแล้ว เขาควรมากราบไหว้คนสร้างให้ นี่อะไร คนยังมานั่งไหว้เขาปลกๆ ดูแล้วมันน่าหัวเราะ...”

ต่อไปนี้คือเนื้อหาส่วนหนึ่งของพระธรรมเทศนา ซึ่งท่านได้ให้คติธรรมโดยเฉพาะเรื่อง “สติ” ไว้เตือนใจสาธุชนเป็นอย่างดี หลวงพ่อท่านกระตุ้นมโนธรรมสำนึกได้วิเศษนัก ความดังนี้

“ในโลกนี้มีเรื่องทุกแห่ง เขาแย่งกันเป็นใหญ่เพื่ออะไร เพื่อวัตถุประสงค์ที่จะมีจะได้ มีตัณหา โลภะเข้าครอบงำจิตใจ ไม่รู้จักบังคับตัวเอง โลกพัฒนามาหลายพันปีแล้ว แต่ว่ายังไม่เข้าถึงธรรมะในศาสนานั้นๆ ถือศาสนาไม่ถึงเนื้อแท้ของพระศาสนา

ชาวพุทธในเมืองไทย เรียกตัวเองว่าพุทธบริษัท แปลว่าผู้แวดล้อมพระพุทธเจ้า แต่แวดล้อมเฉยๆ ไม่เคยเอาธรรมะมาปฏิบัติ ในโบสถ์ในวิหาร ควรจะเป็นสถานที่สงบ ให้ทุกคนมานั่งสงบจิตสงบใจ น้อมรำลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า นึกถึงพระธรรมอันเป็นคำสอน นึกถึงพระสงฆ์ผู้สืบพระศาสนา แต่หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เข้าไปในโบสถ์ ก็ไปขอร้องวิงวอนด้วยประการต่างๆ จะเอานั่น เอานี่ ไปขอพระพุทธรูป

พระพุทธรูปเขาไม่ได้สร้างให้คนไปไหว้ไปขออย่างนั้น สร้างเพื่อจูงใจให้เรานึกถึงพระคุณของพระองค์ แต่ส่วนมากไม่เอาพระคุณมาใช้ แต่ไปวิงวอนขอร้องบนบาน

ถ้าเราเข้าไปในโบสถ์ ต้องไปนั่งสงบใจ ระลึกถึงพระคุณของพระพุทธองค์ ระลึกถึงความกรุณา นึกถึงปัญญา นึกถึงความบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้า นั่งคิดนั่งนึกให้เห็นว่า พระองค์มีความกรุณาปรานีต่อสัตว์โลกอย่างไร พระพุทธเจ้าเที่ยวพัฒนาสอนคนให้หายโง่งมงาย เวลาเขาทำอะไรไม่เข้าท่า พระองค์จะตรัสว่า อารยชนเขาไม่ทำอย่างนี้

บุรุษหนึ่งพ่อตาย ก่อนตายสั่งลูกไว้ว่าให้ไหว้ทิศทั้งหก ลูกก็เชื่อฟัง ไปอาบน้ำ นุ่งห่มผ้าอย่างดีแล้วไปยืนไหว้ทิศตะวันออก ตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ ไหว้ทุกวัน พระพุทธเจ้าเสด็จมาเห็นเข้า ถามว่าเธอทำอะไร ไหว้ทิศตามคำสั่งของพ่อ พระเจ้าข้า พระองค์ตรัสว่า “พ่อเธอมิได้หมายความเช่นนั้น ทิศหมายถึงคนที่เราเกี่ยวข้องหกประเภท คือ บิดามารดา ครูอาจารย์ สมณะชีพราหมณ์ สามีภรรยา นายจ้างลูกจ้าง มิตรสหาย สอนให้ปฏิบัติตนอย่างไร ทำหน้าที่ให้ถูกต้องต่อบุคคลนั้นต่างหาก คือการไหว้ทิศ ไม่ใช่ให้ไปยกมือไหว้ปลกๆ แบบนี้”

หลวงพ่อพูดสอนธรรมะได้อย่างมหัศจรรย์ ครบสูตรของ “หลักการเผยแผ่ธรรม” อยู่ในตัว คือ ชี้ชัด ชักชวนให้อยากปฏิบัติ ฝึกให้กล้า เร้าให้ร่าเริง พระที่ยืนเทศน์หรือนั่งเทศน์ปากเปล่า ไม่เคยมีโน้ตวางข้างหน้าแม้แต่ครั้งเดียว พูดเจื้อยแจ้ว เสียงใส ชัดถ้อยชัดคำ ถ้อยคำที่พรั่งพรูออกมาจากริมฝีปากบางๆ นั้น ยังกับเจียระไนมาอย่างดี สละสลวย ไพเราะ เริงรื่น ชื่นใจ ก่อเกิดปีติปราโมทย์อย่างน่าอัศจรรย์ใจ ในเมืองไทยนี้มีพระคุณเจ้ารูปนี้รูปเดียว ท่านเป็นนักเผยแผ่ธรรมชั้นยอด หาผู้เสมอเหมือนได้ยาก เรียกได้ว่าหลวงพ่อท่านได้สร้างประวัติศาสตร์ของการเทศน์สอนธรรมที่โด่งดัง ที่สุดชนิดที่ไม่มีใครจะลบประวัติศาสตร์หน้านี้ได้เลยทีเดียว ทั้งหมดนี้เป็นแรงจูงใจให้ลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายอยากจะเอาแบบอย่าง ฝึกฝนตนเองเพื่อให้ได้อย่างหลวงพ่อ หรืออย่างน้อยก็ส่วนเสี้ยวหนึ่งก็ยังดี

การสร้างพระคัมภีร์ที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ สุด วิเศษที่สุด ก็คือคัมภีร์ธรรมที่อยู่ในใจของเรา เอาร่างกายเป็นตู้ใส่คัมภีร์ เอาใจเป็นที่จารึกพระคัมภีร์ จารึกไว้ในใจตลอดเวลา” นี้คือหลักธรรมคำสอนที่ท่านมีความมุ่งหมายจะปลูกฝังให้อยู่ในจิตใจของชาวพุทธทั่วไป

หลวงพ่อพุทธทาสภิกขุสั่งหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ ว่า อย่าลืมเทศน์สอนเน้นย้ำ เรื่องความไม่เห็นแก่ตัว ให้มากและให้บ่อยที่สุด เจ้าความเห็นแก่ตัวนี้แหละร้ายกาจ ทำให้ชาติวิบัติฉิบหาย ต้องช่วยกันพยุงชาติศาสนาให้คงอยู่ต่อไป ด้วยการชี้โทษของความเห็นแก่ตัว