ฝึกสติปัญญา ปัญหาไม่มี

ญาติโยม พุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังธรรมปาฐกถาธรรมฐกถา อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ทุกในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ทุกท่านได้ประโยชน์ อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา

เราทั้งหลายที่เข้าวัดเพื่อศึกษาธรรมะ เพื่อนำธรรมะไปปฏิบัติแก้ไขปัญหาชีวิตประจำวัน เพื่อให้ชีวิตมีความสุขความสงบตามสมควรแก่ฐานะ ประโยชน์ของธรรมะที่เราได้รับนั้น นับว่ามากล้นเหลือ คือทำให้ชีวิตของเราดีขึ้น ได้พบคนหลายคนที่ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตจากมืดบอด มาอยู่ในสภาพสว่างไสวด้วยปัญญา จากความหลงผิด มาอยู่ในทางที่ถูกที่ชอบ จากคความเชื่อที่ผิดทาง มาเดินอยู่ในความเชื่อที่ถูกต้อง ตามหลักพระพุทธศาสนา ได้ถามเขาเหล่านั้นว่า เมื่อก่อนกลับเดี๋ยวนี้ มีสภาพชีวิตแตกต่างกันอย่างไร

เขาบอกว่า ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ธรรมะ สิ่งทั้งหลายดีขึ้น ความเป็นอยู่ในครอบครัวดีขึ้น การงานดีขึ้น ความสุขความสงบทางใจก็ดีขึ้น อันนี้เป็นผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติธรรม ผู้ใดปฏิบัติผู้นั้นย่อมเห็นผลด้วยตนเอง ผู้ไม่ปฏิบัติก็เป็นผลเหมือนกัน แต่ว่าไม่ใช่ผลที่เป็นความสุขความเจริญ เป็นผลที่เกิดขึ้น เป็นความทุกข์ความเดือดร้อน

เมื่อมีความทุกข์ความเดือดร้อนเกิดขึ้น ก็ไม่รู้ว่าความทุกข์คืออะไร เหตุมันอยู่ที่อะไร ทุกข์นี้แก้ได้หรือไม่ได้ก็ไม่เข้าใจ ไม่รู้จักวิธีที่จะแก้ไข ชีวิตก็ย่ำเท้าอยู่ที่เดียวตลอดเวลา อันนี้คือผลที่เขาได้รับ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ธรรมะกับอธรรมนั้น ให้ผลไม่เสมอกัน ธรรมะให้ผลเป็นความสุขความเจริญ อธรรมนั้นให้ผลเป็นความทุกข์ ความเดือดร้อน แต่บุคคคลที่ไม่ได้รับการศึกษา ไม่เข้าใจถึงผลแตกต่างของสองสิ่งนี้ ก็มัวเมาอยู่ในความสุข ประเภทที่เกิดขึ้นจากความไม่เป็นธรรม เช่น ความสุขด้วยความเพลิดเพลิน ด้วยการดื่มการกินการเล่น การเฮฮาสนุกสนานด้วยประการต่างๆ เขาเข้าใจว่า นั่นเป็นยอดของชีวิต เป็นความสุขที่เขาปรารถนา

คนประเภทนั้นเป็นคนที่หลงผิด ชีวิตก็ตกต่ำลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งต้องสูญเสียสิ่งที่มีค่าของตนไป น่าสงสารน่าเห็นใจบุคคลประเภทอย่างนี้ เป็นหน้าที่ของเราทั้งหลายที่จะต้องช่วยกัน เพื่อจูงคนเหล่านั้น ให้พบกับสิ่งที่เป็นความหมายอันแท้จริงของชีวิต ถ้าเราจะสามารถไปจูงเขาเหล่านั้น ให้เกิดความรู้สึกนึกคิดในทางที่ถูกที่ชอบ ให้ดำเนินชีวิตในชีวิตใน ทางที่ตรงตามคำสอนในทางพระศาสนา การกระทำของเรานั้น เรียกว่าเป็นมหากุศล เป็นกิจที่ควรแก่การสรรเสริญ เป็นเรื่องที่เราจะต้องทำกันบ่อยๆ

เรื่องการชักจูงช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ให้เข้าทางธรรมะเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องที่เราจะต้องช่วยกัน เรามีเพื่อนมีมิตร ถ้าเรารักเขาเราก็ต้องชักจูงเขา เข้าสู่แนวแห่งธรรมะ ถ้าเราไม่ชักจูงเพื่อนฝูงมิตรสหายเข้าสูธรรมะ ความเป็นเพื่อน มันก็ไม่มีราคาอะไร ความเป็นเพื่อนเป็นมิตรนั้น จะมีค่าตรงที่คอยแนะนำ ชักจูงเข้าหาทางดีทางชอบ เพื่อนคนใด มาแนะนำชักจูงเราให้เดินไปในทางหายนะ นั่นมิใช่เพื่อนแท้ของเรา เป็นพญามารที่ปลอมเข้ามาในสภาพของเพื่อน มาเพื่อจะทำลายเรา ให้เสียหายตกต่ำ เราควรจะหลีกจากคนเช่นนั้นให้ห่างไกล ไม่ควรเข้าใกล้เป็นอันขาด

แต่ว่าเพื่อคนใด ที่คคอยชี้คอยแนะ คอยบอกทางถูกทางชอบให้แก่เรา เป็นคนที่เรียกว่า คอยเตือนอยู่ตลอดเวลา เราควรดีใจ ที่ได้พบเพื่อนเช่นนั้น เพราะเพื่อนเช่นนั้นเป็นเพื่อนแท้ของเรา เป็นเพื่อนที่คอยให้สติให้ปัญญาแก่เรา เราควรจะคบเพื่อนคนนั้นไว้ให้ยืดยาวต่อไป การคบคนเช่นนั้นเป็นประโยชน์ฝ่ายเดียว ไม่มีความเสื่อมเลยเป็นอันขาด

อีกประการหนึ่ง ขอให้เราทั้งหลายคิดสักเล็กน้อย ว่าการคิดการพูด การกระทำของคนในสังคมนั้น มีผลการทบกระเทือนถึงเราหรือไม่ เหตุการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของใคร สิ่งเหล่านั้น กระทบกระเทือน ต่อความเป็นอยู่ของเราหรือไม่ ถ้าเราคิดโดยความรอบคอบแล้ว ก็จะเห็นความจริงว่า มีการกระทบกระเทือนถึงตัวเราด้วย

เพราะชีวิตทุกชีวิตมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน แยกออกจากกันไม่ได้ ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันนั้น เมื่อเกิดมีอะไรขึ้น ก็กระทบกระเทือนถึงกัน ถ้าเป็นไปในทางดี ก็กระทบกระเทือนให้เป็นสุข ถ้าเป็นไปในทางชั่ว ก็กระทบกระเทือน ให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน เราจะอยู่โดยไม่กระทบกระเทือน กับเหตุการณ์ทั้งหลายนั้นไม่ได้ อย่าว่าแต่เหตุการณ์ใกล้ตัวเราเลย แม้เหตุการณ์ที่ห่างไกลไปจากตัวเรา ตั้งหมื่นโยชน์ มันยังกระทบกระเทือนมาถึงเราได้ เพราะในปัจจุบันนี้ โลกมันคับแคบ การไปมาถึงกันหมด มีเรื่องอะไรเกิดขึ้นที่ไหน ก็ย่อมจะรู้ทั่วกันทั้งโลก ผลก็กระทบกระเทือนถึงกันทั้งนั้น

เมื่อเรารู้ว่า ผลที่เกิดขึ้นจากการคิด การพูด การกระทำ ของเพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย ก่อให้เกิดเป็นความทุกข์บ้าง เป็นความสุขบ้างแก่คนทั่วไป หน้าที่ของเราที่ควรจะทำนั้นคืออะไร ก็คือการกระทำหน้าที่ ในทางที่จะไม่ส่งผลให้เกิดความทุกข์แก่ใครๆ การการทำอะไร ที่จะไม่ส่งผลให้เกิดความทุกข์แก่ใครๆ นั่นแหละ เรียกว่าเป็นการทำบุญทำกุศล การทำบุญทำกุศลที่ประเสริฐเลิศเลอนั้น ก็อยู่ที่การทำใจของเรา ไม่ให้เป็นพิษเป็นภัยแก่ใครๆ การพูดก็ไม่ให้เป็นพิษเป็นภัยแก่ใครๆ การกระทำก็ไม่ให้เป็นพิษเป็นภัยแก่ใครๆ การอยู่โดยไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ใครๆ นั่นแหละ ในทางธรรมะถือว่าเป็นการอยู่ชอบ

การอยู่ชอบนั้นทำให้เกิดความสุข แต่การอยู่แบบไม่ชอบนั้นเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน เราทั้งหลายชอบความทุกข์หรือไม่ ชอบความเดือดร้อนกันหรือไม่ ใครๆ ก็คงตอบเหมือนกัน ว่าไม่ต้องการ เราไม่ชอบความทุกข์ ความเดือดร้อน แล้วคนอื่นเขาชอบหรือเปล่า จิตใจของคนเรามันเหมือนกันทั้งนั้น ถ้าไม่มีอะไรมาปรุงมาแต่งแล้ว สภาพจิตใจเหมือนกัน ที่เกิดแตกต่างกันนั้น เพราะมีสิ่งมาย้อมใจ ให้จิตเดิมนั้นมันเปลี่ยนสภาพไป ถ้าเมื่อยังไม่ถูกอะไรย้อมใจแล้ว ก็มีสามัญสำนึกแบบเดียวกัน คือนึกรักสุข เกลียดทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น ชอบของดีของงามด้วยกันทั้งนั้น

ไม่มีใครชอบของชั่วของทราม ว่าเขาไม่รู้จักสิ่งนั้นถูกต้อง จิตของเขาถูกย้อมด้วยสิ่งนั้นเป็นเวลานาน จนกลายเป็นพอใจ พึงใจในสิ่งนั้น อันนี้มันไม่ใช่ของเดิม แต่เป็นของที่เกิดขึ้นใหม่ในชีวิต และเราไม่รู้ว่า สิ่งนั้นเป็นพิษเป็นภัย จึงเก็บทะนุถนอมมันไว้ เหมือนกับเก็บสิ่งที่เป็นพิษใส่ไว้ในบ้านเรือน มันจะแว้งกัดเมื่อไรก็ได้ ทำให้เราเกิดความทุกข์ ความเดือดร้อนเมื่อไหร่ก็ได้

เพราะฉะนั้น เมื่อเรารู้ว่าอะไรมันเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อน เราก็ไม่ควรจะกระทำสิ่งนั้นต่อใครๆ เพราะเขาก็ไม่ต้องการเช่นเดียวกัน

คนเราที่มีชีวิตอยู่ในโลกประจำวัน ควรจะอยู่ด้วยความเห็นอกเห็นในกัน อยู่ด้วยการเอาใจเขามาใส่ใจเราไว้ เทียบเคียงระหว่างตัวเขาตัวเราไว้เสมอ จะทำอะไรก็ต้องคิด ถามตัวเองว่า การกระทำเช่นนั้นถ้ามีใครมาทำกับเรา เราชอบใจหรือไม่ และเมื่อเราไปทำกับเขา เขาก็ไม่ชอบใจเหมือนกัน เพียงหลักง่ายๆ เท่านี้ เราก็จะอยู่กันด้วยความสงบสุข ไม่ต้องทะเลาะเบาะแว้งกับใครๆ จะพูดจะคิดอะไร ก็เอาหลักนี้เข้าไปเป็นหลักไว้ ว่าถ้าเขาทำกับเรา เราจะชอบใจหรือไม่ เราไปทำกับเขา เขาคงไม่ชอบใจเหมือนกัน เพราะจิตนั้นเหมือนกัน

สภาพจิตตัวเดิมนั้นเหมือนกัน ไม่ได้แตกต่างๆ อะไรกัน แต่ที่แตกต่างขึ้นมานั้น ก็เพราะว่าถูกปรุงแต่งด้วยความโลภ ด้วยความโกรธ ด้วยความหลง เมื่อกิเลสประเภทใดประเภทหนึ่ง มาปรุงแต่งจิตใจของเรา เราเป็นคนไม่เหมือนเดิม มีอะไรๆ เปลี่ยนแปลงไป การคคิดก็ผิดไป การพูดก็ผิดไป การกระทำก็เป็นไปในทางผิด ผลที่ออกมาก็คือความทุกข์ ความเดือดร้อน อันนี้เป็นเรื่องธรรมดาที่สุด ที่จะเกิดขึ้นในชีวิตของเราเมื่อใดก็ได้ ถ้าเราเผลอเราประมาท

ในหลักการปฏิบัตินั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสเตือนไว้ว่า เธอทั้งหลายอย่าอยู่ด้วยความประมาท แต่จงอยู่ด้วยความไม่ประมาท ความประมาท เป็นทางแห่งความทุกข์ ความไม่ประมาทเป็นทางแห่งความสุข ทางประมาทเป็นทางแห่งความตาย ความไม่ประมาทเป็นทางแห่งความอยู่รอด ท่านจึงกล่าวย้ำกล่าวเตือนว่า จงอยู่ด้วยความไม่ประมาท แม้ในวาระสุดท้ายแห่งชีวิตของพระองค์ คือตอนใกล้จะปรินิพพาน พระองค์ก็ยังได้ตรัสเตือนภิกษุทั้งหลายว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขารธรรมทั้งหลายเป็นสิ่งไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้ว แปรปรวนดับไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลาย จงทำประโยชน์ตน และประโยชน์ผู้อื่น ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด"

ใช้คำบาลีว่า อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ ท่านทั้งหลาย จงทำประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด " อันนี้เป็นพระโอวาท ที่ฝากไว้ก่อนจะหมดลมหายใจ เขาเรียกว่า "ปัจฉิมวาจา" วาจาในครั้งสุดท้ายของพระตถาคตเจ้า

บรรดาการปฏิบัติทั้งหลายนั้นรวมอยู่ในตัวนี้ทั้งหมด คือรวมอยู่ในความไม่ประมาท เหมือนกับรอยเท้าสัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในป่า มันก็รวมลงไปได้ในรอยเท้าช้างทั้งนั้น รอยเท้าช้างนี้เป็นรอยเท้าที่ใหญ่ที่สุด ในบรรดาสัตว์ทั้งหลาย สัตว์ตัวใดตัวหนึ่ง ก็ไปเหยียบลงในรอยเท้าช้างได้ฉันใด ธรรมะอันเป็นการปฏิบัติทั้งหลาย ก็รวมอยู่ในความไม่ประมาทตัวเดียว ถ้าเราเป็นอยู่ด้วยความไม่ประมาท ก็เรียกว่าเป็นอยู่ชอบ ตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นเราจึงควรอยู่ด้วยความไม่ประมาท ความไม่ประมาทนั้นคืออะไร คือความมีสติสมบูรณ์อยู่ตลอดเวลา ความมีสติเรียกว่า ไม่ประมาท เผลอสติก็เรียกว่า เป็นผู้ประมาท เพราะคำว่าประมาทนั้น ศัพท์เดิมแปลว่า ความเมาทั่ว บาลีว่า ปมาทะ แปลว่าเลินเล่อ เผลอ หรือว่ามึนเมา อยู่ในสิ่งนั้นๆ เขาเรียกว่าปมาทะ

ทีนี้ความอัปปมาทะ ก็คือความไม่เผลอ ไม่มัวเมา ไม่หลงใหล ไม่ลืมตัวอยู่ในสิ่งเหล่านั้น ยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ เช่นเราไปดูอะไร แล้วดูจนเพลินไป เกินเวลาไป อย่างนี้เรียกว่าลืมตัวไปแล้ว ประมาทไปแล้ว หรือว่าคนที่ไปดูหนัง แล้วหัวเราะจนตายในโรงหนัง เหมือนข่าวที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ อันนี้ก็เรียกว่าประมาทแล้ว ลืมตัวไป หัวเราะจนกระทั่งลืมตัวไไป แล้วมันตายเอาได้เหมือนกัน เราอย่าเที่ยวไปจี้สีข้างเด็กให้มันหัวเราะมากเกินไป เดี๋ยวเด็กมันจะดิ้นสิ้นใจไป เป็นทุกข์เป็นโทษต่อไป นี่เขาเรียกว่าประมาทไป

คนที่ดื่มของมึนเมา ดื่มจนลืมตัวแล้วมัวจนไม่ได้สติ จนกระทั่งเดินสองขาไม่ได้ ต้องเดินสี่ขากลับบ้าน อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นผู้ประมาท หรือว่าคนที่ไปเล่นการพนัน ไปเล่นไพ่ ลืมกลับบ้าน ลืมกินลืมถ่าย นี่ก็คือความประมาททั้งนั้น เขาเรียกว่าลืมตัว โดยมากในเรื่องชั่ว เรื่องร้าย เรื่องไม่ดี แต่ถ้าเรามีความรู้สึกตัว มีสติขึ้นมา เราก็นึกว่ามากไปแล้ว พอรู้สึกตัวว่ามากไป แล้วก็หยุดทันที รู้สึกตัวว่ามันเกินสมควรแล้ว เราก็หยุดทันที พอหยุดนี้ ก็เรียกว่าความไม่ประมาทเกิดขึ้น มีสติเกิดขึ้นในจิต เกิดความยับยั้งชั่งใจ เกิดความรู้สึกว่ามันเกินความพอดี มันจะใช้ไม่ได้ มันจะเป็นเรื่องเสียหาย มันจะนำความทุกข์ความเดือดร้อนมาให้

สิ่งเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นในใจเมื่อใด มันหยุดยั้งทำให้เราหยุด จากการปฏิบัติในรูปเช่นนั้น เช่นคนที่อยู่ในวัยหนุ่มวัยฉกรรจ์ ก็เที่ยวสนุกสนานเพลิดเพลินไปตามเรื่อง ยิ่งคนที่พ่อแม่มีเงินทอง ไม่ต้องหา ไม่เหน็ดไม่เหนื่อย ควักล้วงเอาเมื่อใดก็ได้จากคุณแม่ คุณแม่ก็รักลูกดังแก้วตา รักจนตาทะลุไปเลย ต้องการอะไรก็ให้ได้ดังใจ พอได้เงินก็ไปเที่ยว ไปสนุกตามไนท์คลับ เขาเรียกว่าเป็นเพลย์บอยไป เที่ยวเพลิดเพลินไป จนไม่รู้สึกเนื้อไม่รู้สึกตัว อันนี้เรียกว่า ประมาทแล้ว แต่ว่าสักวันหนึ่งคนนั้นจะรู้สึกขึ้นมา ด้วยการได้ยินคำพูดที่กระทบกระเทือนใจ

เช่นว่าไปฟังพระเทศน์ในวัดก็ได้ ฟังวิทยุก็ได้ หรือว่าได้อ่านหนังสือเข้าก็ได้ เกิดสลดใจ แล้วก็คิดได้ขึ้นมา กลับเปลี่ยนชีวิตจิตใจเข้าหาพระ เริ่มศึกษาธรรมะ เริ่มปฏิบัติตนในทางที่ถูกที่ชอบ อย่างนี้ก็เรียกว่าได้สำนึกขึ้นมาในใจ แล้วเปลี่ยนความประมาท ให้เป็นความไม่ประมาท เปลี่ยนจากคนเผลอ ให้เป็นคนไม่เผลอ มีสติยับยั้งชั่งใจ ชีวิตมีค่าต่อไป

พระท่านเปรียบว่า เหมือนกับดวงจันทร์ที่อยู่ในหมู่เมฆ ไม่เห็นแสง พอเลิกความประมาท ก็โผล่ออกมาจากกลีบเมฆ ส่องแสงจ้ามาสู่โลกต่อไป ชีวิตก็มีค่าต่อไป คนเราถ้าชีวิตตกต่ำ ก็ควรจะได้เปลี่ยนแปลงให้มันสูงขึ้น ถ้าอะไรไม่ดีก็ควรจะทำให้ดีขึ้น ให้ก้าวหน้าต่อไปในทางที่ถูกที่ชอบ ก็จะเป็นการทำชีวิตให้มีค่ามีราคา เราทั้งหลายที่มาประชุมกันนี้ ก็อาจจะมีบ้างในสมัยหนึ่ง คือสมัยหนุ่มคะนอง อาจจะเพลิดเพลินไปในเรื่องอะไรต่างๆ เพลิดเพลินในการดื่มในการเที่ยวในการเล่น ในความสนุกสนานเฮฮา เพราะนึกว่านั่นเป็นเรื่องสาระของชีวิต เป็นเรื่องที่เราควรจะสนุก บางคนพูดว่า มีเงินมีทอง ไม่ใช้กินเล่น แล้วมันจะมีไว้ทำไม เลยไปกินไปเล่นกันเป็นการใหญ่ จนกระทั่งหมดเงินหมดทอง เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อนในชีวิตต่อไป ตกต่ำอย่างนี้น่าเสียดาย

เคยพบคนคนหนึ่ง เดี๋ยวนี้แกเป็นคนเรียบร้อย เข้าวัดเข้าวา ช่วยเหลือกิจการพระศาสนาแข็งแรง แกบอกว่า ผมก่อนจะเข้าวัดนี้ หมดนาไปห้าร้อยไร่ นึกแล้วมันเสียดาย นึกแล้วเจ็บช้ำในหัวใจ ว่าหมดนาไปตั้งห้าร้อยไร หมดไปด้วยการกิน การเที่ยว การสนุกสนาน เพื่อนฝูงเยอะแยะ มาตอมเหมือนแมลงวันตอมอะไรอย่างนั้นแหละ แล้วมานึกได้ทีหลัง ถามว่าทำไมมานึกได้ขึ้นมา บอกว่าได้พบพระเข้า แล้วพระท่านพูดกระทบกระเทือนใจอย่างแรง แล้วเอามาคิดนึกตรึกตรอง แล้วเกิดความรู้สึกตัวขึ้นมาว่า กูมันบ้ามาหลายปีแล้ว เลิกบ้ากันเสียทีเถอะ แล้วก็เลยหันเข้ามาสู่ธรรมะต่อไป เดี๋ยวนี้เรียบร้อยมานานปีแล้ว แต่แกมานึกถึงธรรมะ ว่าแล้วก็แล้วไป เรื่องนั้นมันผ่านพ้นไปแล้ว จะไปเอาคืนมาอีกก็ไม่ได้ ช่างมันเถอะ หมดแต่เพียงนา ชีวิตยังอยู่ แล้วยังจะได้ทำอะไรต่อไป อันนี้นับว่าดีแท้

ทีนี้คนหนุ่มๆ สาวๆ ถ้าได้เข้าหาธรรมะเสียแต่วัยต้น คือปฐมวัย ไปได้ไกล ชีวิตจะมีค่าไม่ใช่น้อย เพราะจะทำอะไรที่เป็นประโยชน์แล้ว ร่างกายก็จะมั่นคงแข็งแรง เพราะไม่หาโรคหาภัยใส่ตัว คนที่ชอบสนุกชอบเที่ยว เขาเรียกว่าแส่หาทั้งนั้น เหมือนกับคำโบราณว่า แกว่งเท้าหาเสี้ยน เสี้ยนมันอยู่ในรกในพง อุตส่าห์แกว่งเท้าเข้าไป ให้เสี้ยนมันตำเล่น ของชั่วทั้งหลายมันไม่ได้อยู่กับเราสักหน่อย แต่ว่าเราเที่ยวแกว่งเข้าไปหา หาความชั่วใส่ตัว หาความทุกข์ใส่ตัว แล้วก็เลยชีวิตตกต่ำ เกิดโรคภัยไข้เจ็บในร่างกาย ทำให้ชีวิตเสียหายมากมายก่ายกอง อันนี้ไม่ดี

เมื่อวานนี้ ไปเทศน์ที่อำเภอผักไห่ ก็มีเด็กหนุ่มๆ หน้าตาน่าเอ็นดูสองคน เขาอุตส่าห์มา เขาไม่ได้อยู่ที่นั่นหรอก แต่ว่าอยู่ที่ป่าโมก อาตมาเดินทางผ่านป่าโมกไปผักไห่ เมื่อไปถึง ฉันเพลเสร็จ ก็ไปนั่งพักรับลมอยู่ที่ศาลาน้อยๆ เขาก็เข้ามากราบด้วยความเคารพ แล้วก็สนทนากัน เขาบอกว่าผมรู้จักหลวงพ่อมานานแล้ว คือรู้จักในแง่ธรรมะ ไม่ได้รู้จักหน้าตา คือรู้จักในแง่ธรรมะ แต่ไม่เคยเห็นหน้าตาหลวงพ่อ อาตมาบอกว่า หน้าตาหลวงพ่อไม่สำคัญอะไรหรอก มันสำคัญอยู่ที่ธรรมะที่ได้ยินได้เรียนนั่นแหละ

เขาบอกว่า ผมรับธรรมะมานานแล้ว แล้วผมได้ทิ้งอะไรๆ ไปหมดแล้ว เมื่อก่อนนี้เขามีอะไรอยู่หลายอย่าง ความเชื่อผิดทาง เขาก็เลิกหมด ความอะไรไม่เหมาะไม่ควรเขาเลิกทิ้งหมด เขาเอาธรรมะอย่างเดียว เพื่อนอีกคนหนึ่งก็เช่นเดียวกัน ก่อนนี้ชอบไปในเรื่องขลังๆ ต่างๆ เดี๋ยวนี้ก็เลิกหมด เอาแต่ธรรมะเพียงอย่างเดียว เขาบอกว่าสบายใจดี ชีวิตเรียบร้อย แล้วก็สนใจฟังวิทยุตลอดเวลา แล้วถ้าหากว่ามาเทศน์ใกล้ก็มาหามาคุยกัน ได้พบคนหนุ่มๆ ที่มีความคิดในรูปเช่นนั้น ก็เป็นเรื่องน่าชื่นใจ

เขาเรียกว่าเข้าป่าแต่เช้า ได้ไม้หลายท่อน คนเข้าป่าเอาตอนใกล้ค่ำ ตัดไม่ได้กี่ต้น มันมืดเสียแล้วตัดไม่ไหว เดี๋ยวก็ไปฟันเอามือเท่านั้นเอง แต่ถ้าเราเข้าป่าเช้าๆ ตัดไม้ได้เยอะ กองโตเอาไปขายได้มาก คนเข้าวัดตั้งแต่วัยหนุ่มวัยสาว ได้ธรรมะไปใช้ในชีวิตประจำวัน จะอยู่บ้านคนเดียว จะครองบ้านครองเรือน ชีวิตจะไม่วุ่นวายไม่เสียหาย เพราะเรามีหลักประจำใจ มีธรรมะเป็นดวงประทีปนำทาง ให้ชีวิตจะก้าวหน้าเป็นไปด้วยดี อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ เราที่มาวัดอยู่ ต้องชวนเพื่อนฝูงให้มาด้วย ได้กินอะไรอร่อยเรามักจะคิดถึงเพื่อน กินก๋วยเตี๋ยว กินขนม กินผลไม้ อะไรดีๆ ก็มักจะคิดถึงเพื่อน

แม้พวกขี้เมาพอได้ดื่มก็นึกถึงเพื่อน อยากให้เพื่อนฉิบหายอีกสักคนหนึ่ง เรียกว่านึกถึงกัน อยากจะแป่งปันเฉลี่ยให้เพื่อน นี่เขาเรียกว่าของดีก็อยากนึกถึงเพื่อน ของไม่ดีก็นึกถึงเพื่อน แต่ว่ามันก็เป็นเรื่องวัตถุทั้งนั้น ไม่ได้เป็นเครื่องประคับประคองชีวิตเลย ถ้าเราได้ฟังธรรมะได้อ่านหนังสือธรรมะ แล้วเอาสิ่งนั้นไปเที่ยวแจกเพื่อน ไปชวนเพื่อนให้อ่าน ชวนเพื่อนให้ฟัง ชวนเพื่อนปฏิบัติ อันนี้แหละเป็นเรื่องดีแท้ ขอให้เราได้ช่วยกัน

หรือว่าเราได้เป็นเพื่อนฝูงมิตรสหายของเรา มีความทุกข์มีความเดือดร้อนใจ เราอย่าเฉยเมย แต่เราควรจะเข้าไปพูดจา แนะนำ ตักเตือน ชักจูง ให้เขาเข้าใจถูกต้อง ในเรื่องชีวิตขึ้นมา จะช่วยแก้ปัญหาชีวิตได้ดีมาก แต่ถ้าเราไม่สามารถจะแนะนำได้ เพราะความรู้ยังน้อย เราก็นำมาหาผู้ที่พอจะแนะนำได้ ให้เขาได้รับแสงสว่างในทางชีวิต นั่นแหละคือการช่วยอย่างแท้จริง การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ถ้าช่วยเหลือในด้านวัตถุ ถือว่าเป็นการช่วยเหลือเล็กน้อย เป็นการช่วยเหลือภายนอก แต่การช่วยเหลือทางจิตทางวิญญาณ คือการช่วยเหลือที่แท้จริง

เดี๋ยวนี้เราช่วยเหลือกันทางจิต ทางวิญญาณน้อย แต่ช่วยเหลือกันทางวัตถุมากพอสมควร ทางวัตถุก็จำเป็นเหมือนกัน ต้องช่วย แต่ถ้าช่วยแต่เพียงวัตถุ หาได้ชื่อว่า ช่วยเขาให้พ้นจากความทุกข์อย่างแท้จริงไม่ แต่ถ้าเราช่วยในทางจิตใจแก่เขา พร้อมๆ กับช่วยเหลือในทางวัตถุ นั่นแหละ เป็นการช่วยทั้งสองฝ่าย ทั้งภายนอก ทั้งภายใน เป็นการช่วยอย่างแท้จริง และถูกต้อง จึงใคร่ที่จะขอฝากแนวคิดนี้ไว้ว่า สมัยนี้มักจะขวนขวายช่วยเหลือกันในทางด้านวัตถุอยู่ แต่ว่ายังขาดการช่วยเหลือกัน ในทางจิตวิญญาณ จึงควรจะได้มีการช่วยเหลือในทางนี้มากขึ้น

ให้สังเกตว่า สมเด็จพระราชชนนี ท่านไปไหน ท่านมีหนังสือธรรมะไปด้วยทุกครั้ง ไปแจกหยูกแจกยาแจกข้าวแจกของ ท่านมีหนังสือธรรมะเล่มน้อยๆ เอาไปแจก ท่านพิมพ์ของท่านเอง เอาเงินของท่านพิมพ์เป็นพันๆ หมื่นๆ เล่ม ไปไหนก็เอาไปแจกเขา นั่นแหละชื่อว่าช่วยเหลือทางจิตวิญญาณ คนเหล่านั้นได้รับหนังสือได้เอาไปอ่าน จะได้เกิดความรู้ความเข้าใจ เราอย่านึกว่า คนบ้านนอกบ้านนา จะอ่านหนังสือไม่ออก ไม่อยากอ่านหนังสือ คนบ้านนอก ขยันอ่านหนังสือ มากกว่าคนบ้านเราเสียอีก แล้วก็อยากมีหนังสือไว้อ่าน อาตมาออกไปตามบ้านนอกบางแห่ง ก็สงสารเขา คือไม่ได้เอาหนังสือไปด้วย

เพราะว่าไปอย่างรีบร้อน เขามาก็ถามว่า อาจารย์มีหนังสือมาบ้างหรือเปล่า ผมอยากได้ไว้อ่าน ผมมีอยู่เล่มหนึ่งอ่านจนจำหมดแล้ว เล่มเดียวแกอ่านจนจำหมดเลย แล้วยกมาพูดให้ฟังเป็นตอนๆ จากหนังสือนั้น หนังสือที่อาตมาแต่ง ยกมาให้ฟังว่า ตอนนั้นว่าอย่างนั้น ตอนนี้ว่าอย่างนี้ มันจับใจเหลือเกิน ผมจำได้หมดแล้วทั้งเล่ม ยกมาว่าให้ฟัง ก็นึกชมน้ำใจว่า ได้เล่มเดียวก็อ่านจนอยู่ในหัวหมดเลย แล้วอยากจะได้เล่มอื่นมาอ่านอีก แต่ไม่ได้มีหนังสือไป เสียดายที่ไม่มีไป ตอนหลังไปไหนก็มักจะมีไปบ้าง ติดเนื้อติดตัวไป เผื่อคนที่สนใจ เขาได้อ่านจะได้ศึกษาเรื่องนั้นต่อไป เขาชอบอ่าน

มีโยมคนหนึ่ง แกมีหนังสือแก่นพุทธศาสน์ ของท่านเจ้าคุณพุทธทาสอยู่เล่มหนึ่ง บอกว่า ผมอ่านแล้วห้าสิบครั้ง เล่มนั้นอ่านห้าสิบครั้ง อ่านทุกครั้งยิ่งใหม่เสมอ ยิ่งได้อะไรใหม่ๆ อันนี้เป็นความจริง คือว่าเราอ่านหนังสือธรรมะ เวลาอ่านแล้วมันเกิดอะไรขึ้นในใจ มันโพลงขึ้นมา เป็นความรู้ที่เกิดขึ้นในใจในขณะอ่าน เพราะในขณะอ่านธรรมะ จิตใจสงบ เมื่อจิตใจสงบ มันก็เกิดอะไรขึ้นมา แต่โดยมาก ความคิดที่เกิดผ่านมานั้น มักจะผ่านพ้นไปเฉยๆ เราไม่ได้บันทึกไว้ในสมุด ถ้าสมมติว่ามีอะไรเกิดขึ้น บันทึกไว้ อ่านครั้งหลังมีอะไรเกิดขึ้น ก็บันทึกไว้ แล้วเอาบันทึกที่เราบันทึกไว้นั้น มาอ่านทีหนึ่ง ก็จะเกิดอะไรขึ้นในใจอีกหลายเรื่องหลายประการ นี่คือผลของการอ่านหนังสือธรรมะ หรือการคิดการค้นธรรมะก็เหมือนกัน

ว่างๆ เราไปนั่งคิดนั่งค้นข้อความ เป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจ นั่งคนเดียว ก็เอาข้อธรรมะข้อใดข้อหนึ่งมาพิจารณา เช่นพิจารณาถึงความไม่เที่ยง ของสรรพสิ่งทั้งหลาย พิจารณาถึงความทุกข์ ในชีวิตประจำวัน พิจารณาถึงสิ่งที่เรียกว่า เป็นอนัตตา เรานั่งพิจารณา แยกแยะ วิเคราะห์วิจัยไป ความรู้มันจะเพิ่มขึ้นในชีวิตของเรา แล้วทำให้เราเห็นอะไรชัดเจนขึ้น เขาเรียกว่ารู้แจ้ง เห็นจริง ความทุกข์มันค่อยเบาบางไป มีอะไรเกิดขึ้นในใจก็ไม่ต้องร้องให้ร้องห่ม ไม่ต้องเสียใจเกินพอดี เพราะเรามีความซาบซึ้งอยู่ในกฏธรรมชาติ ว่าสิ่งทั้งหลายมันก็เป็นอย่างนั้นแหละ ไม่มีอะไรที่เรียกว่า คงทนถาวรอยู่ในโลกนี้สักอย่างเดียว มันช่วยให้จิตใจสบาย ทำให้เกิดอะไรดีขึ้น

แม้คนที่ทำงานทำการอยู่ในหน้าที่ เช่นเราเป็นคนค้าขาย หรือว่าเป็นคนประกอบธุรกิจประเภทต่างๆ เราอย่านึกว่าธรรมะไม่จำเป็น อาหารของร่างกายจำเป็น ฉันใด ธรรมะก็มีความจำเป็นแก่จิตใจอย่างนั้นเหมือนกัน เราจะเลี้ยงให้ร่างกายเจริญเติบโต แต่ประการเดียวนั้นไม่ได้ แต่เราจะต้องเลี้ยงใจของเราให้เติบโตด้วย จิตใจจะเติบโต ก็เพราะมีอาหารประเภทธรรมะเลี้ยงใจ เราจึงต้องแสวงหาอาหารนี้ ควบคู่กันไปกับการแสวงหาอาหารทางกาย เมื่อรับประทานอาหารทางกายแล้ว ก็ควรรับอาหารทางใจด้วย สภาพจิตใจของเราก็จะดีขึ้น อยู่ในสภาพที่ผ่องใส ไม่มีความทุกข์ความเดือดร้อนทางใจ อันนี้เป็นเรื่องที่เห็นได้จากการกระทำของเราเองประการหนึ่ง

อีกประการหนึ่ง จิตใจของคนเรานั้น ถ้าเราไม่คอยควบคุมไว้ ไม่คอยสังเกตไว้เราก็ไม่รู้ ไม่รู้ว่ามันมีสภาพอย่างไร มันดิ้นรน กวัดแกว่ง ห้ามยาก รักษายากอย่างไรเราไม่รู้ เหมือนกับคนไม่เคยเลี้ยงเด็ก ไม่รู้ว่าเด็กมันมีความซุกซนขนาดไหน จิตใจของเด็กเป็นอย่างไร เราไม่รู้ แต่ว่าเขาให้รับภาระเลี้ยงเด็กสักชั่วโมงหนึ่ง เราจะเห็นว่าเด็กนี้มันซนเอาการ เด็กขนาดคลานได้ เดินได้ จะเห็นว่ามันไม่หยุดเลย มันออกกำลังอยู่ตลอดเวลา แต่ว่าเด็กที่ยังไม่รู้จักคว่ำจักคลานนี้ เลี้ยงง่ายหรอก มันไม่ไปไหน ยกแข้งยกขาชี้ฟ้าอยู่เท่านั้นเอง แต่พอคลานได้ก็จะคลานไป ตกบันไดลงไปทีเดียว นี่มันเป็นเรื่องที่เราเห็นฉันใด สภาพจิตใจเรานี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราไปนั่งดูมัน แล้วก็จะเห็นว่า เดี๋ยวคิดเรื่องนั้น เดี๋ยวคิดเรื่องนี้ เดี๋ยวคิดเรื่องโน้น เดี๋ยวไปเรื่องนั่น ไปโน้น เราก็จะเห็นว่า มันดิ้นรนเอาการ กลับกลอกไม่ใช่น้อย เป็นลิงไปเลยทีเดียว เขาว่าไว้อย่างนั้น มันเป็นความจริง

ทีนี้ ที่เราว่าจิตของเรากลับกลอก ดิ้นรนนี่ จะห้ามมันได้ไหม หยุดได้ไหม หยุดได้ ไม่ใช่หยุดไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า "บัณฑิตผู้มีปัญญา ย่อมห้ามจิต ที่ดิ้นรน กลับกลอก รักษายาก ห้ามยาก นี้ได้" คือว่าทำได้ ไม่ใช่เรื่องเหลือวิสัย การทำนั้นก็ต้องคอยควบคุมมันไว้ การควบจิต ก็คือเอาจิตควบคุมจิตต่อไป เอาจิตก็คือเอาตัวสติ ตัวความรู้สึกตัว เข้าไปคุมความคิดของเราไว้ มันคิดอะไรให้เรารู้ไว้ รู้ตัวว่าคิดอะไร มีอะไรเกิดขึ้นในใจ

เช่นจิตมีความโลภก็รู้ว่ามีความโลภ มีความโกรธ ก็รู้ว่ามีความโกรธ มีความหลงก็รู้ว่ามีความหลง มีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ มีโทสะก็รู้ว่าจิตมีโทสะ มีโมหะครอบงำจิต ก็รู้ว่ามีโมหะ มีพยาบาทเกิดขึ้นก็รู้ว่า มีความพยาบาทเกิดขึ้น อะไรตัวใดมาเกิดขึ้นในใจ ต้องกำหนดรู้ ถ้าเรากำหนดรู้อยู่นั้น มันไม่ลุกลาม เหมือนกับต้นไฟ หัวลมดับเสียแต่หัวที มันไม่ลุกลามต่อไปเป็นความคิดแบบฟุ้งซ่านต่อไป แต่มันจะหยุดทันทีเพราะเรารู้มัน อาการที่เราเข้าไปกำหนดรู้นั่นแหละ ทำให้มันหยุดไป หยุดโกรธเพราะเรารู้ตัว ให้ลองสังเกต พอเราโกรธใครพอเรารู้ตัวว่าโกรธ นี่เราหยุดทันที มันเบาลงไป ไม่ใช่หยุดทันที แต่ว่ามันเบาลงไป เพราะว่าเรารู้ตัว พอรู้ตัวมันก็เบาลงไปหน่อย และเมื่อมีความรู้ตัวต่อไปมันก็หยุด มันไม่รุนแรงต่อไป เพราะเรารู้ตัว

คนที่โกรธโดยไม่รู้ตัวมักจะรุนแรง แสดงอาการเช่นพูดคำหยาบออกไป บางทีก็ทุบเข้าให้ บางทีก็ขว้างข้าวของทำให้แตกเสียหาย พอหายโกรธแล้วก็รู้ว่า แหมลืมไป เขาเรียกว่า ลืมตัวไป คือไม่รู้ตัวว่าเรากำลังโกรธนั่นเอง จึงได้มีอาการเช่นนั้น แต่ถ้าเรารู้ตัวมันก็เบาทันที หยุดได้ทันดี เพราะสภาพของคนเรานั้นมันคิดได้ทีละเรื่อง ไม่ได้คิดได้สองเรื่องสามเรื่องในเวลาเดียว ในวินาทีนี้ถ้ามีความโกรธ มันไม่มีอารมณ์อื่น แต่พอเราเกิดความรู้สึกตัว ความโกรธมันก็หายไปทันที หยุดทันที แต่ถ้าเราเผลอมันอาจจะเกิดขึ้นอีกก็ได้ เผลอนั้นหมายความว่า เราไปคิดถึงเหตุที่ทำให้โกรธ เช่นว่าเด็กทำให้เราโกรธ พอเราเห็นเด็กนั้นแล้วมันหมั่นใส้ขึ้นมา อยากจะเข้าไปหยิกมันให้ขาเขียวทีเดียว พอไปคิดถึงอันนั้นมันก็โกรธ แต่ถ้าพอเรารู้ตัวว่ามาอีกแล้ว มันก็หยุดทันที อันนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ ว่าถ้าเรารู้แล้วว่ามันหยุด แต่ถ้าเราไม่รู้มันไม่หยุด มันเกิดลุกลามไปเรื่อย ยืดยาวไปใหญ่โตทีเดียว

ในแง่การปฏิบัติ ท่านจึงสอนให้คอยกำหนดรู้ไว้ แต่ว่าเราจะไปกำหนดรู้จิตทันทีนั้น ไม่สามารถจะทำได้ เพราะว่าเราไม่ได้ฝึกฝนไว้ก่อน การฝึกฝนทางจิตนี้ก็คล้ายกับการฝึกฝนทางกาย เรียกว่าบริหารกาย การบริหารกายมีอย่างใด การบริหารจิตก็ควรจะมีอย่างนั้น พลศึกษาที่เขาสอนกันในโรงเรียนนั้น เป็นการฝึกทางกาย เพื่อให้มีกำลัง ให้แคล่วคล่องว่องไว ในการที่จะทำนั้นทำนี้ได้ดังใจปรารถนา นั่นเป็นเรื่องฝ่ายกาย แต่ถ้าหากว่าเราไม่มีการบริหารจิต มันก็ไปไม่รอด คนที่เรียนเป็นนักมวย อาจจะเอาความเป็นนักมวย ไปต่อยปากใครเมื่อใดก็ได้ เพราะไม่ได้ฝึกจิตหักห้ามจิตการใช้ หรือว่าเรียนเพลงอาวุธ อาจจะเอาปืนไปยิงใคร ให้ถึงแก่ความตาย ก็ถ้าบุคคลนั้นไม่มีการฝึกหัดห้ามจิตใจ เรื่องการฝึกจิตนี้เป็นเรื่องสำคัญ ควบคู่กันกับการฝึกกาย ถ้าเราฝึกกายแล้วก็อย่าลืมฝึกจิตด้วย

วันก่อนนี้ เขานิมนต์ไปเทศน์ที่กรมพลศึกษา ก็บอกไว้เหมือนกัน บอกว่าถ้าเรียนแต่พลศึกษา ฝึกกายอย่างเดียวนั้นมันไม่พอหรอก ต้องเรียนพลศึกษาในการฝึกจิตด้วย เรียกว่า จิตศึกษาก็ต้องมี ต้องฝึกเด็กให้รู้จักยับยั้งชั่งใจ ให้ห้ามใจของตนได้ ตามวิธีการของธรรมะในทางพระพุทธศาสนา แต่ว่าโดยมากไม่ค่อยคำนึงถึงเรื่องนี้ เพราะหลักสูตรเขาไม่ได้วางไว้ ก็ฝึกกันแต่เรื่องพละนี่แหละ ออกกำลังกันเหงื่อไหลไคลย้อยไปตามๆ กัน หัดเล่นฟุตบอลล์กีฬาประเภทต่างๆ เพราะฉะนั้นเวลาแข่งขันกีฬาทีไร ก็ต่อยกันทุกที ที่ต่อยกันทุกที เพราะอะไร

ก็เพราะว่าไม่สอนการฝึกจิตให้แก่เด็ก ไม่สอนเด็กให้รู้จักควบคุมตัวเอง ให้รู้จักบังคับตัวเอง แต่ว่าสอนให้เล่นเพื่อชนะ อย่าให้แพ้เป็นอันขาดแพ้แล้วเสียชื่อ สอนให้อยาก ไม่ได้สอนให้หยุดอยาก ไม่เล่นกีฬาเพื่อให้หยุดอยาก แต่ว่าเล่นกีฬาเพื่อให้อยาก เพิ่มราคะเพิ่มโทสะเพิ่มโมหะ เพื่อความต้องการให้เกิดขึ้นในจิตใจ ทีนี้คนเราตามปกติมันก็อยากอยู่แล้ว ถ้าไปสอนเพิ่มความอยาก มันก็อยากใหญ่ เลยไปกันนอกลู่นอกทาง เพราะฉะนั้น เวลาเล่นเพื่อให้ชนะ เอาชนะตรงๆ ไม่ได้ก็เอาแบบที่เรียกว่า ไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็เอาด้วยกล ไม่ได้ด้วยมนต์ต้องเสกคาถามั่งละ เลยมันก็เล่นเกเร ต่อยตีกันในสนามอะไรต่างๆ ทำให้เกิดความเสียหาย เสียชื่อมานานแล้ว ทีตอนนี้ไม่ได้ข่าวเพราะว่าโรงเรียนปิดอยู่ แล้วไม่ใช่ฤดูแข่งกีฬา พอถึงฤดูแข่งกีฬาเราจะเห็นว่าเป็นอย่างนั้น อันนี้คือความบกพร่องในทางการฝึกจิต

เรื่องการฝึกจิตนี้เราต้องฝึกไปตั้งแต่ในบ้าน พ่อแม่นั่นนแหละเป็นผู้ฝึกลูก ให้มีสภาพจิตเป็นปกติเรียบร้อย แต่ว่าพ่อแม่จะฝึกลูกต้องฝึกตัวเองก่อน ถ้าฝึกตัวเองไม่ได้ เช่นเป็นคนใจร้อนใจเร็วหุนหันพลันแล่น พอโกรธขึ้นมาก็เหวี่ยงปังไปไม่รู้ว่าถูกตรงไหน อย่างนี้ก็ไม่ไหวเหมือนกัน เราจะไปห้ามเด็กมันก็ลำบาก เราจึงต้องฝึกด้วย พ่อแม่นี้ต้องฝึกจิตไปแต่เริ่มต้น คือเมื่อแต่งงานนี้ ต้องเริ่มฝึกจิต แล้วต้องบังคับตัวเอง ให้อยู่ในระเบียบวินัย ไม่ปล่อยตัวปล่อยใจ ไปตามอารมณ์และสิ่งแวดล้อม คอยควบคุมไว้ตลอดเวลา

พอเริ่มมีลูกทั้งสองคนคนต้องปรึกษากันแล้ว ว่าเราต่อไปนี้ไม่ได้แล้ว เรากลายเป็นสิ่งที่เด็กมันจะถ่ายภาพไว้ตลอดเวลา ลูกน้อยนั้นคือคนถ่ายภาพของเราไว้ เขาจะถ่ายไว้ตลอดเวลา เราแสดงอาการอย่างไร มันก็ถ่ายไว้ แสดงดีมันก็ถ่ายดีไว้ แสดงไม่ดีมันก็ถ่ายไว้ แล้วมันไม่ถ่ายเปล่ามันเอาไปใช้เสียด้วย มันเอาไปใช้เมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ เราจึงมักจะพูดว่า เจ้านี่มันเหมือนแม่ของมันเปี๊ยบเลย คือแม่เป็นอย่างใด ลูกก็เป็นอย่างนั้น พ่อเป็นอย่างไรลูกก็เป็นอย่างนั้น สุดแล้วแต่ว่าเด็กชอบใครมาก โปรดใครว่าอย่างนั้น โปรดคุณแม่ก็เหมือนคุณแม่ทุกอย่าง ถ้าโปรดคุณพ่อก็เหมือนคุณพ่อทุกอย่าง อันนี้คือการถ่ายทอด

เพราะฉะนั้นเราจะต้องไม่แสดงภาพอันใด ในทางที่เรียกว่า ไม่รู้จักควบคุมจิตใจให้เด็กเห็น อยู่ในบ้านของเราอยู่ต่อหน้าลูก ต้องคอยควบคุมอย่างที่สุด ให้ถือว่าลูกคือแขกพิเศษ ที่มานั่งอยู่ในบ้านของเรา สมมติว่าแขกเข้าบ้านเรา ต้องควบคุมกิริยามรรยาทอย่างที่สุด จะไม่แสดงอะไรให้แขกเห็นว่า เราไร้การศึกษา ไร้การอบรมในเรื่องต่างๆ ฉันใด ในขณะที่เราอยู่ต่อหน้าลูกของเรา ต้องถือว่า นี่เป็นแขกพิเศษของเรา มานั่งอยู่ในบ้านของเรา เราจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ที่จะไม่แสดงอะไรออกไป ถ้าหมั่นควบคุมอย่างนี้แล้ว อะไรๆ ก็จะดีขึ้น ในขณะที่อยู่ในบ้าน

ทีนี้เมื่อเราไปอยู่ในสำนักงานก็เหมือนกัน เราก็ต้องควบคุมเหมือนกัน เราเป็นหัวหน้าคน ถ้าหากว่าเป็นคนใจน้อยสร้อยสั้น อ่อนแอ คนอ่อนแอคือคนที่มักโกรธ หุนหันพลันเล่น ใจร้อนใจเร็ว นี่เขาเรียกว่า คนอ่อนแอ ไม่มีความแข้มแข็ง ไม่มีความหนักแน่นในตัวเอง จึงมีสภาพจิตใจอย่างนั้น ถ้าหากว่าเรารู้สึกตัวว่าเป็นอย่างนั้น เราต้องควบคุมแล้ว คอยเตือนคอยบอกตัวเองไว้ คอยสอนตัวเองไว้ตลอดเวลา ในเรื่องที่เราบกพร่อง ต้องพูดกับตัวเองบ่อยๆ พูดว่า ระวังนะ อย่าให้เป็นเช่นนั้น ขายหน้าเขา เขาจะดูหมิ่นเราได้ ว่าเราไม่รู้จักควบคุมตัวเอง ไม่รู้จักรักษาจิตใจอะไรต่ออะไรหลายอย่าง คอยพูดคอยเตือนไว้

ถ้ามีอารมณ์อันใดจะมากระทบ เราก็ต้องเตรียมตัวไว้ก่อน คล้ายกับทหารที่รู้ว่าข้าศึกจะมา ก็ต้องเตรียมเนื้อเตรียมตัวไว้ให้พร้อม ขวัญไม่เสีย แล้วก็คิดว่าจะต้องสู้กับมันอย่างไร เพื่อให้ข้าศึกต้องถอยหลังกลับไป ให้ได้เห็นหลังข้าศึกว่าอย่างนั้น คือมันหนีเราก็ได้เห็นหลังมัน อย่างไรจะได้เห็นหลังข้าศึกบ้าง ต้องคิดเตรียมตัวฉันใด อารมณ์ต่างๆ ที่เข้ามากระทบจิตใจของเรานี้ก็เหมือนกัน

เราจะต้องคอยระมัดระวังไว้ เช่น เราจะไปหาใครจะไปสนทนากับใคร ก็ต้องรู้ว่าคนนั้นมีลักษณะอย่างไร เป็นคนชอบยั่วหรือ เป็นคนชอบเย้าให้เกิดอารมณ์ หรือว่าเป็นคนที่มีเหลี่ยมพราวไปทั้งตัว ถ้าเราเผลอนิดเดียวก็เรียกว่าแกกัดเอาเท่านั้นเอง เราก็ต้องเตรียมพร้อมแล้ว ใจต้องเย็นต้องสงบ ถ้าใจใม่เย็นเสียท่าเขา เขาเอาเปรียบเราได้ แต่ถ้าเราใจเย็นไม่แสดงอาการอะไร ควบคุมตัวเองไว้ได้ ไม่แสดงอาการวิการ แม้ทางหน้าตาทางมือทางไม้ บางคนคุมใจได้ แต่มีแสดงอาการ เช่นหน้าแดงหูแดง มือไม้สั่นปากคอสั่นริกๆ ขึ้นมาทีเดียว เพื่อนเขาสังเกตรู้ว่าเรากำลังแพ้เขาแล้ว เพราะว่าสั่นกลัวตกอกตกใจ ขวัญเสียอย่างนี้ เราเสียเปรียบข้าศึกแล้ว เพราะฉะนั้นเราต้องคอยควบคุมไว้ ต้องมีสติคอยกำหนดไว้ ถ้าเราเคยฝึกอานาปานสติคือการกำหนดลมหายใจเข้าออก ใช้วิธีนี้ต่อสู้ได้ คือ กำหนดลมหายใจไว้

การกำหนดลมหายใจ มันได้ประโยชน์อย่างหนึ่ง คือทำให้การหายใจเป็นปกติ ไม่หนักไม่เบาไม่รุนแรง แต่ว่าเป็นไปปกติ ขณะหายใจเข้าเราก็กำหนดรู้ไว้ หายใจออกก็คอยกำหนดรู้ไว้ อาการหายใจนั้นเป็นปกติ วันก่อนนี้ได้พบคนคนหนึ่ง แกเป็นโรคเบาหวานมาหลายปี แต่ว่าเดี๋ยวนี้หายเด็ดขาด ไปตรวจปัสสาวะ หมอบอกว่าแปลกจริงหายได้อย่างไร เป็นมาตั้งยี่สิบกว่าปีไม่ใช่น้อย แล้วหายขาด ไม่มีน้ำตาลปรากฏในปัสสาวะเลย เจาะโลหิตดูก็ไม่มีน้ำตาลเลย หมอก็ถามว่ากินยาอะไร แกบอกว่า เรื่องยานี้ไม่รู้ว่ากินยาอะไร เขาบอกว่าดีกินทั้งนั้น ใบไม้ก็กินรากไม้ก็กิน ยาตำราโรงพยาบาลก็กิน กินทั้งหมดทุกอย่าง ไม่รู้ว่ามันหายด้วยอะไร

แล้วหมอก็สงสัยต่อไปก็เลยถามว่า ได้ไปทำอะไรเกี่ยวกับจิตไหม แกบอกว่า เรื่องนี้ผมทำอยู่ คือได้ฝึกจิตเจริญอานาปานสติ ตามแบบหนังสือของท่านเจ้าคุณพุทธทาส ทำจริงจังเลยทีเดียว เพราะเป็นคนที่เรียกว่า ไม่มีปัญหาทางครอบครัว ลูกเต้าเติบโตหมดแล้ว ไม่เดือดร้อนในทางทรัพย์สมบัติ นั่งฝึกจิตนานๆ ก็ได้ ก็เลยฝึกอานาปานสติ ฝึกไปๆ โรคเบาหวานมันหายไป วันหนึ่งมาเยี่ยมท่านเจ้าคุณที่ไชยา ก็เล่าให้ท่านฟัง ท่านบอกว่าอานิสงส์มันมากกว่านั้น ไม่ใช่เพียงแต่โรคเบาหวานหรอกโรคอื่นก็แก้ได้เหมือนกัน ขอให้ทำจริงๆ แล้วกัน อันนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ ว่ามีบุคคลปรากฏอย่างนี้

การฝึกจิตใจนี้ทำให้จิตใจสงบเยือกเย็น แล้วเมื่อจิตใจสงบ ต่อมต่างๆ ในร่างกายก็สงบ อันนี้ต้องคุยกับแพทย์ ว่าอะไรบ้างมันไม่ขลุกขลักขึ้นมา มันเป็นปกติ คนเราถ้าจิตมันผิดปกติแล้ว สั่งการสั่งงาน มันไม่ปกติ เลยมันก็เสียไปหมด ท่านเคยเป็นโรคท้องผูกหรือไม่ โรคท้องผูกมันเป็นจากเรื่องความกังวลตอนเช้า ขออภัยถ้าเข้าไปในห้องน้ำ ถ้าไปนั่งวิตกกังวลแล้วถ่ายไม่ออก ถ้าไปคิดเรื่องอะไรวุ่นวายใจแล้วมันไม่ออก แต่ถ้าเราไปนั่งเฉยๆ ทำใจให้ปกติ เดี๋ยวก็ออกไปเลย มันออกคล่องๆ มันเกี่ยวกับอะไรๆ ในร่างกายเหมือนกัน

นี่ต้องปรึกษากับหมอ ว่าทำไมมันเป็นอย่างนั้น อาตมาเมื่อก่อนมันเป็นโรคอย่างนี้ประจำเหมือนกัน ไปนั่งนานๆ เวลาถ่าย ก็จับสาเหตุได้ว่าจิตไม่ค่อยปกตินั่นเอง ทีนี้หัดทำจิตให้ปกติ ตื่นเช้าทำให้ไม่มีความกังวลห่วงใยอะไร ไม่คิดถึงปัญหาว่า เงินมันจะไม่พอหรืออะไรในเรื่องการก่อสร้าง ลืมมันเสียเช้าๆ อย่าไปยุ่งกับมัน เฉยๆ แล้วก็ไปนั่งทำใจให้สงบ ไม่กี่นาทีประเดี๋ยวเดียวก็เรียบร้อย อันนี้ใช้ได้ อำนาจจิตมันสำคัญ

คนเราถ้ารู้จักบังคับตัวเองแล้วอะไรๆ มันดีขึ้นหมดเพราะฉะนั้นต้องฝึกเหมือนกัน ฝึกเจริญอานาปานสติไว้ กำหนดหายใจเข้าออก ทำเอาเองก็ได้ ไม่ใช่ยากเย็นอะไรแล้วก็ทำบ่อยๆ สภาพการหายใจปกติ ความคิดก็จะเป็นเรื่องปกติขึ้นมา อะไรในร่างกายมันเรียบร้อยหมด ค่อยปกติโดยลำดับขึ้นมา ลองเอาไปใช้ดูจะเป็นประโยชน์ ทีนี้เมื่อเราเคยฝึกหัดอย่างนั้น พอไปประสบอารมณ์อะไรเข้า จะทำให้เกิดความปั่นป่วนทางจิตใจ เราก็เริ่มหายใจตามแบบที่เคยหายใจ เจริญกรรมฐาน เท่ากับว่าเตรียมกำลังเพื่อต่อสู้ เราทำใจของเราให้สงบ ด้วยการเจริญอานาปานสติ สภาพจิตก็จะเรียบร้อยไม่วุ่นวาย ทีนี้การพูดอะไรก็เป็นปกติ นั่งตัวตรงหายใจเป็นปกติ สงบใจ ฟังเขาพูดในเรื่องที่เขาว่าให้เราฟัง เมื่อเราจะตอบอะไรก็ตอบด้วยใจเย็นใจสงบ อย่างใจร้อนอย่าใจเร็ว อันนี้จะช่วยได้มาก จะทำให้อะไรๆ ดีขึ้น

การนอนไม่หลับก็เกิดจากจิตผิดปกติ อาหารไม่ย่อยโรคปวดหัวมัวตา อะไรต่างๆ มันเกิดจากเรื่องนี้ทั้งนั้น ให้ดูคนแก่ที่โกรธบ่อยๆ นอนไม่ค่อยหลับ แล้วบางทีโกรธหนักเข้าหัวสั่น นั่งสั่นงกเง็กๆ อยู่อย่างนั้นเหมือนกับตุ๊กตากล นี่ก็คือเรื่องจิตนั่นแหละไม่ใช่เรื่องอะไร เพราะฉะนั้นถ้าเรามีจิตเป็นปกติแล้วไม่ค่อยมีเรื่อง พบคนแก่บางคนใจดีๆ อายุยืนตั้งเก้าสิบกว่าปีแล้ว หน้าตายังผ่องใส ไม่ค่อยโกรธเคืองใคร ใจเฉยๆ นี่เขาเข้าถึงธรรมะ เป็นคนใจสงบใจเย็น ขอให้สังเกตคนแก่ที่ใจสงบนี่อายุยืน ร่างกายเป็นปกติ ไม่ค่อยมีอะไรวุ่นวายทางจิต เพราะฉะนั้นให้พยายาม ที่จะบังคับจิตใจของเราไว้ ด้วยมีสติกำหนดอาการของมันไว้ สิ่งใดไม่ดีเกิดขึ้นก็ไล่มันออกไป อย่าให้มันอยู่ในใจของเรา เราก็อยู่อย่างปกติ มีความสุขตามสมควรแก่ฐานะ ดังที่ได้กล่าวมา เพื่อเป็นเครื่องชึ้แนะแนวทางเตือนจิตสะกิดใจ แก่ญาติโยมทั้งหลาย ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ขอยุติการกล่าวปาฐกถาไว้แต่เพียงนี้

โดย หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ
วันอาทิตย์ที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๐

Find the best web hosting service and read ipage review for more information.
มูลนิธิภิกขุปัญญานันทะ | Develop by บ้านจิตอาสา | Webmaster : poonpreecha@volunteerspirit.org